Eng |
แจ้งงดให้บริการเว็บไซต์ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของอาคาร
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เวลา 17.00 น.
ถึงวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 08.00 น.
ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ดวงดาว ฉันทศาสตร์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก. จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019, COVID-2019) ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน จากนั้นแพร่ระบาดไปหลายพื้นที่ในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย การติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในระบบทางเดินหายใจส่งผลให้เกิดโรคปอดอักเสบและพบรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ ทำให้ประชาชนตื่นตัวในด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สร้างสุขอนามัยที่ดี” นั่นคือ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธีนับเป็นวิธีการทำความสะอาดที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามการทำงานนอกบ้าน การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และกิจกรรมต่างๆ ในสถานที่สาธารณะ วิธีการล้างมือดังกล่าวอาจไม่สะดวก ดังนั้นการใช้แอลกอฮอล์เจลหรือแอลกอฮอล์สเปรย์ทำความสะอาดมือ เป็นทางเลือกในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือได้เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคจากการหยิบจับและสัมผัสได้
แอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคโดยทั่วไปมีกี่ชนิด?
แอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคโดยทั่วไปมี 2 ชนิด คือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) และ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) แอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิดเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และเชื้อไวรัส แต่ไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียได้ แอลกอฮอล์จัดเป็นสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแต่ฤทธิ์ในการทำลายเชื้อของแอลกอฮอล์จะลดลงมากหากความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดต่ำลง
ภาพจาก : https://www.aljazeera.com/mritems/imagecache/mbdxxlarge/mritems/Images/2020/1/9/c2a245dc78174eb6954412a1ce47c102_18.jpg
ทั้งนี้พึงระลึกเสมอว่า "ห้ามใช้ เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) โดยเด็ดขาด" เนื่องจาก เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นของเหลวใส ไม่มีสี ระเหยง่าย เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี ที่นิยมใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมการทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา ยาลอกสี ฯลฯ และใช้เป็นเชื้อเพลิงในธรรมชาติ มีความเป็นพิษต่อร่างกายมาก โดยเมทิลแอลกอฮอล์สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนัง ลมหายใจ ผู้ที่สูดดมเข้าไปจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมอักเสบ มีการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ อาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดและตายได้ถ้าดื่มเข้าไป
ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เท่าไรที่เหมาะสมในการฆ่าเชื้อโรค?
เอทิลแอลกอฮอล์ และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อได้ดีเมื่อมีความเข้มข้น 60-90% โดยปริมาตรในน้ำ (%v/v) และประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อจะลดลงอย่างชัดเจนเมื่อความเข้มข้นต่ำกว่า 50% โดยปริมาตร ซึ่งความเข้มข้นที่มีประสิทธิภาพนั้นมีแอลกอฮอล์และน้ำผสมกันด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม ส่งผลต่อกลไกการออกฤทธิ์โดยการแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรคได้ จึงทำให้โปรตีนเสียสภาพและทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรคแตก ในกรณีของเชื้อไวรัสพบว่าเอทิลแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 60-80 % โดยปริมาตร ทำลายเชื้อไวรัสชนิดที่มีชั้นไขมันหุ้ม (Lipohilic viruses) เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ไวรัสเริม (Herpes virus) ไวรัสเอชไอวี (HIV) รวมถึง ไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-2019 นี้ด้วย นอกจากนี้เอทิลแอลกอฮอล์ยังทำลายไวรัสชนิดที่ไม่มีชั้นไขมันหุ้ม (Hydrophilic virus) หรือไวรัสเปลือย (Naked virus) ได้หลายชนิด เช่น เชื้ออะดีโนไวรัส (Adenovirus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ไรโนไวรัส (Rhinovirus) โรตาไวรัส (Rotaviruses) และไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) แต่จะไม่ทำลายไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A virus) และโปลิโอไวรัส (Poliovirus) ส่วนไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์นั้นทำลายไวรัสชนิดที่มีชั้นไขมันหุ้ม แต่จะไม่ทำลายเอนเทอโรไวรัสซึ่งไม่มีชั้นไขมันหุ้ม
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ เช่น เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดต้องประกอบด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ 70% โดยปริมาตรขึ้นไป และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ได้ออกมาตรการเร่งด่วนในการห้ามผลิต นำเข้าหรือขายแอลกอฮอล์เจลที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์น้อยกว่า 70% โดยปริมาตรในท้องตลาด อีกทั้งยังมีประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง วิธีการทดสอบและเกณฑ์ตัดสินผลการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ. 2562 ให้ใช้วิธีทดสอบตามมาตรฐานสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรฐานสารเคมี ฆ่าเชื้อบนพื้นผิวและภายนอกร่างกายของสิ่งมีชีวิต (EN 1276: 2009 Chemical disinfectants and antiseptics) และปรับปรุงเพื่อความเหมาะสมสำหรับประเทศไทยในเรื่องอุณหภูมิการทดสอบ ชนิดเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ทดสอบและสภาวะการทดสอบ โดยกำหนดเกณฑ์การตัดสินผลเพื่อดูถึงประสิทธิภาพในการลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียของผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือไว้อย่างชัดเจน ในกรณีที่ต้องการอ้างบนฉลากว่าลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียต้องมีผลทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าว
ถ้าฉลากผลิตภัณฑ์ระบุความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เป็น % โดยน้ำหนัก (%w/w) จะทราบได้อย่างไรว่าฆ่าเชื้อโรคได้?
แอลกอฮอล์เข้มข้น 60-90% โดยปริมาตรในน้ำ (%v/v) เทียบเท่ากับ แอลกอฮอล์ความเข้มข้น 52.1– 85.8% โดยน้ำหนักในน้ำ (%w/w) ดังตาราง ดังนั้นความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องสอดคล้องกับประกาศตามที่กล่าวข้างต้นคือ แอลกอฮอล์เข้มข้น 70 -90% โดยปริมาตรในน้ำซึ่งเทียบเท่ากับ แอลกอฮอล์เข้มข้น 62.4 -85.8 % โดยน้ำหนักในน้ำ
หมายเหตุ
แอลกอฮอล์ 95% ให้ผลฆ่าเชื้อโรคดีกว่าแอลกอฮอล์ 70% หรือไม่?
แอลกอฮอล์ 95% โดยปริมาตรในน้ำ เช่น denature ethyl alcohol 95% (DEB 95) มีปริมาณของแอลกอฮอล์สูงมาก จึงระเหยรวดเร็วมากกว่าแอลกอฮอล์ 70% โดยปริมาตรในน้ำ และมีปริมาณน้ำในส่วนผสมไม่เพียงพอที่จะดูดซึมผ่านเยื่อหุ้มผนังเซลล์ของเชื้อโรค จึงไม่ใช้แอลกอฮอล์ 95% โดยปริมาตรในน้ำในการฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่สูงนี้จะชะล้างปริมาณไขมันบนผิวทำให้ผิวแห้ง และระคายเคืองได้
ใช้แอลกอฮอล์เจลเป็นทางเลือกเดียวของการล้างมือเท่านั้นหรือ?
แอลกอฮอล์เจลใช้เป็นทางเลือกในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือได้ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรค อย่างไรก็ตามวิธีการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี นับเป็นวิธีทำความสะอาดที่ดีที่สุด นอกจากแอลกอฮอล์เจลแล้วยังสามารถใช้แอลกอฮอล์สเปรย์แทนได้ ที่สำคัญคือ ความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์และไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ในแอลกอฮอล์เจลและแอลกอฮอล์สเปรย์ต้องอยู่ในช่วง 70 -90% โดยปริมาตรในน้ำ จึงจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค ทั้งนี้ในสูตรตำรับของแอลกอฮอล์เจล และแอลกอฮอล์สเปรย์ควรมีสารให้ความชุ่มชื้น เช่น glycerin ประมาณ 3-5% ซึ่งช่วยทำให้ผิวไม่แห้งภายหลังการทำความสะอาด
โดยสรุป แอลกอฮอล์เข้มข้น 70-90%โดยปริมาตรในน้ำ (62.4– 85.8% โดยน้ำหนักในน้ำ) เป็นสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูง ราคาไม่แพง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่ตกค้าง ไม่ว่าจะเลือกใช้แอลกอฮอล์เจล หรือแอลกอฮอล์สเปรย์ควรระมัดระวังความถี่ในการใช้ เพราะอาจทําให้ผิวแห้ง และควรระวังในเรื่องการจัดเก็บให้พ้นแสงสว่างและความร้อน เพราะแอลกอฮอล์สามารถติดไฟได้ อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน ผู้ผลิตอาจเติมสี แต่งกลิ่นในตำรับ เช่น เตรียมเป็นสารละลายใสหรือเจลสีฟ้า เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน